5 ปัจจัยที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้ (28 พ.ย. – 2 ธ.ค. 65)
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์จะเป็นไฮไลท์หลักของสัปดาห์นี้ การแถลงของประธานเฟด เจอโรม เพาเวลล์ ในช่วงกลางสัปดาห์จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ข้อมูลเงินเฟ้อของยูโรโซนจะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับข้อมูล PMI ของจีนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของจำนวนผู้ป่วย COVID-19 และนี่คือประเด็นสำคัญอีก 5 สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เพื่อการลงทุนในสัปดาห์นี้
1.ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร
ความคาดหวังจากนักลงทุนยังเชื่อว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง และจากรายงานการจ้างงานของสหรัฐในวันศุกร์อาจส่งผลในการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟด นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่ม 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020
รายงานตำแหน่งงานยังคาดว่าจะแสดงให้เห็นว่าการเติบโตใน ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมง อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะคงที่เหนือระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 3.7%. และนี่จะเป็นรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรฉบับสุดท้ายก่อนการประชุมรอบสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมของเฟด
2.การแถลงจากเฟด
ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ จะหารือเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจระหว่างการปรากฏตัวที่ Brookings Institution ในวันพุธ แม้ว่าพาวเวลล์ระบุว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลงในเดือนหน้า แต่เขายังกล่าวด้วยว่าในที่สุดแล้วอัตราดอกเบี้ยอาจต้องสูงกว่าที่คาดในปีหน้า
ปฏิทินเศรษฐกิจยังเผย ISM ภาคการผลิต PMI และมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดโปรดปราน – ดัชนีราคา PCE หลัก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี รายงานอื่นๆ ในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ การจ้างานนอกภาคการเกษตรจาก ADP,ตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น,และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
3.หุ้นค้าปลีก
วอลล์สตรีทกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของผู้ค้าปลีกที่ดำเนินกิจการในช่วงเทศกาลจับจ่ายซื้อของในวันหยุด รวมถึงความเคลื่อนไหวต่อไปของเฟด
ยอดขายในวัน Black Friday เริ่มดำเนินไปท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ผู้ค้าปลีกกำลังจัดโปรโมชั่นส่วนลดยกใหญ่ ทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านค้า ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรในไตรมาสที่สี่
หุ้นค้าปลีกของสหรัฐได้กลายเป็นเครื่องวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเมื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น จนถึงปีนี้ ดัชนีค้าปลีก S&P 500 ลดลงกว่า 30% เล็กน้อย ในขณะที่ S&P 500 ลดลง 15%
4.เงินเฟ้อของฝั่งยุโรป
แม้ว่าจะมีสัญญาณเบื้องต้นว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่คาดว่าข้อมูล เงินเฟ้อ ของยูโรโซนในวันพุธจะแสดงให้เห็นว่าแรงกดดันด้านราคาในกลุ่มยุโรปยังคงแข็งแกร่ง CPI ของยูโรโซน พุ่งแตะ 10.6% ในเดือนตุลาคม มากกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางยุโรปถึง 5 เท่า
ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 เบสิสพอยต์เป็น 1.5% ในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม ทำให้การปรับขึ้นทั้งหมดรวมเป็น 200 เบสิสพอยต์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นการกระชับโยบายที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์
ตลาดกำลังจับตารายงานการประชุมประจำเดือน ECB จากคาดการณ์ของนักลงทุนอาจเพิ่มขึ้น 50 หรือ 75 จุด ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 15 ธันวาคม
5.ตัวเลข PMIs ของจีน
ข้อมูล PMI ในวันพุธจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป เจ้าหน้าที่ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการจำกัดไวรัสต่อไป แม้ว่าจะมีการประท้วงในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
จีนกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จะลดจำนวนเงินสดที่ธนาคารต้องกันไว้เป็นทุนสำรองเป็นครั้งที่สองในปีนี้ ซึ่งจะปลดปล่อยสภาพคล่องเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
(ที่มา : สำนักข่าวรอยเตอร์ส)